เเวดวงธุรกิจ

วว. เดินหน้า วิจัยพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ หนุนผู้ประกอบการ  พร้อมช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP สู่สากล

               สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  เดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนา และสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมหนุนผู้ประกอบการ และยกระดับวิสาหกิจชุมชน ล่าสุดสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศ และเครื่องอบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์ (Vortex-Circulating Solar Dryer) และยกระดับ “ผลิตภัณฑ์ OTOP ปลากุเลาทอง แม่แป้นตากใบ จังหวัดนราธิวาส” สู่สากล

               ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า “วว. เป็นองค์กรวิจัยพัฒนา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามุ่งให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนาที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงาน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงบูรณาการ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพันธกิจสำคัญในการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs OTOP เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และก้าวสู่สากลต่อไป”

              ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด วว. ได้มีการสร้างสรรค์พัฒนา นวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศ (Vacuum fryer) เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต และยังตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยเครื่องทอดสุญญากาศ มีปริมาณการทอดต่อรอบได้สูงถึง 65 กิโลกรัม สามารถสร้างสุญญากาศสูงสุดได้ถึง 720 มิลลิเมตรปรอท โดยใช้อุณหภูมิในการทอด 80-95 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 60-80 นาที/ครั้ง (ขึ้นกับประเภทวัตถุดิบ) สามารถนำน้ำมันมาใช้ทอดซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง/น้ำมัน 1 รอบ โดยกำลังการผลิตต่อการใช้น้ำมัน 1 รอบ (600 ลิตร) ประมาณ 1,000-1,300 กิโลกรัม ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทอดจากเครื่องนี้จะมีคุณภาพสม่ำเสมอ ไม่อมน้ำมัน ถูกหลักอนามัย และยังมีอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 1 ปี ทั้งนี้ ยังมีคุณภาพผลิตภัณฑ์ทั้งสีและรสชาติยังคงใกล้เคียงธรรมชาติ

               และอีกหนึ่งผลงานพัฒนานวัตกรรม คือ เครื่องอบพลังงานลมร่วมแสงอาทิตย์ (Vortex-Circulating Solar Dryer) โดย วว. มีการออกแบบภายนอกให้เป็นวัสดุโปร่งแสง เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์เก็บสะสมไว้ในห้องอบ ขณะที่ภายในประกอบด้วยชั้นวางถาด ด้านบนเป็นพัดลมดูดความชื้นทำหน้าที่ต้านกระแสลม ให้เกิดลมหมุนวนในห้อง เพื่อดูดความชื้น มีลิ้นวาล์วเปิด-ปิด เพื่อควบคุม อัตราการไหลเวียนของอากาศ โดยหลักการทำงานจะเริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบมาหั่นสไลซ์  แล้วนำมาวางเรียง จากนั้น จะปิดฝาตู้ ส่วนตำแหน่งการวัดอุณหภูมิจะมี 2 จุดคือวัดอุณหภูมิจากส่วนบนและส่วนล่าง           โดยอุณหภูมิที่อบและทั่วไปอยู่ที่ 60 องศา

               นอกจากการพัฒนาด้านนวัตกรรมแล้ว ที่ผ่านมา วว.ยังได้ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยยกระดับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด การยกระดับ “ผลิตภัณฑ์ OTOP ปลากุเลาทอง แม่แป้นตากใบ จังหวัดนราธิวาส” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง โดย นายธิติ พันธเสน ผู้ประกอบการร้านปลากุเลาทองแม่แป้นตากใบเปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาปัญหาที่เราเจอ คือ ผลิตภัณฑ์เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน Packaging ไม่ดึงดูด แต่ด้วยแรงบันดาลใจอยากยกระดับสินค้า จึงได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กับ วว. เพื่อทำการพัฒนา โดยเริ่มจาก Packaging บรรจุปลากุเลาเค็มแบบชิ้น ซึ่งได้รางวัล World Star Packaging award ปี 2022 สามารถช่วยยกระดับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับ จนสามารถเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และไม่เพียงความรู้ด้านปรับเปลี่ยน Packaging เท่านั้น เรายังได้รับความรู้อีกหลายแขนง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายในการส่งออก ซึ่งล่าสุดเราได้ไปออกงานจัดแสดงสินค้า มีลูกค้าชาวต่างชาติให้ความสนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก จึงอยากแนะนำผู้ประกอบการมือใหม่หรือผู้ที่ผลิตสินค้าอยู่แล้ว หากเจอปัญหาอะไรสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจาก วว. ได้ ซึ่งจะมีทีมโค้ชคุณภาพให้คำปรึกษาและแนวทางแก้ไข”

               นับเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ของสถาบันวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ยังคงรักษาความมุ่งมั่นในงานวิจัย พัฒนา และบริการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เกิดสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางให้ประสบความสำเร็จ พร้อมหนุนเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *