“หน่อง – อรุโณชา” ได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินนวนิยายส่งประกวด “รางวัลชมนาด ครั้งที่ 11”
สำหรับรางวัลชมนาดจากที่ได้ไปทำข่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงมือใหม่และมืออาชีพได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านการประพันธ์ สำหรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายของนักเขียนหญิง “รางวัลชมนาด ครั้งที่ 11” ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากลมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 โดยปีนี้ คุณชาติศิริ โสภณพนิช บอสใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เป็นประธานมอบรางวัล ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ อาทิ อาจารย์เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, คุณปรียนาถ สุนทรวาทะ, ผศ.สกุล บุญยทัต, คุณอรุโณชา ภาณุพันธุ์, คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์, คุณกนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์, คุณตรีคิด อินทขันตี, คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนหญิงเจ้าของผลงาน “รอยวสันต์” ผู้ชนะรางวัลชมนาดครั้งที่ 1, คุณวิทิดา ดีทีเชอร์ เจ้าของผลงาน “รอยบาศ” ผู้ชนะรางวัลชมนาดครั้งที่ 9 มาร่วมงาน พร้อมร่วมฟังเสวนาเรื่อง “จะร่วมกันผลักดันงานเขียนสตรีสู่นานาชาติ” โดยงานขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 ในงานได้สัมภาษณ์คุณหน่อง – อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้บริหารคนเก่ง บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินนวนิยายที่ส่งเข้าประกวด 30 เรื่องคัดเหลือเพียง 9 และให้เหลือ 4 เรื่องที่ได้รับรางวัลว่า
“ต้องขอบคุณทางประธานที่จัดรางวัลชมนาดแล้วได้ให้เกียรติพี่หน่องเป็นกรรมการในรอบตัดสินนะคะ ต้องบอกว่าหลังจากคัดออกมาแล้ว 9 เรื่องเนี่ย ดีหมดเลยนะคะ เพียงแต่ว่าในแต่ละเรื่องก็มีความแตกต่างแล้วก็เรื่องที่ชนะเลิศคือ “ความจริงมิอาจวิปลาสได้ เขียนโดย นทธี ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11 ซึ่งมีวิธีการเล่าเรื่องและนำเสนอ แล้วก็มีความแปลกใหม่ด้วย ส่วนเรื่องไหนเหมาะนำไปสร้างเป็นละคร ก็มีหลาย ๆ เรื่อง เดี๋ยวก็ต้องไปพิจารณาว่าเรื่องไหนเหมาะจะทำละครบ้าง แต่จริง ๆ สนุกทุกเรื่องค่ะ เพียงแต่ว่าเรื่องที่ชนะเลิศกรรมการทุกท่านค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า มีวิธีการเขียน การร้อยเรื่อง แล้วก็มีแก่นของเรื่องที่น่าสนใจมาก วิธีเขียนนำเสนอได้น่าติดตามค่ะ ก็ดีใจกับนักเขียนทุกท่านเลยที่ได้รับรางวัลชมนาดค่ะ”