เเวดวงธุรกิจ

สสว. เดินหน้าเต็มสูบ ยกศักยภาพ SME ผ่านระบบ BDS ปี 2566 เชื่อมั่น จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

               สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการจากทั่วประเทศที่ลงทะเบียนบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ BDS ภายใต้ “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566” ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ หวังยกระดับศักยภาพธุรกิจเติบโตสู่สากล และยั่งยืน เผยมี SME สมัครร่วมโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย กว่า 10,000 ราย พร้อมข้อเสนอพัฒนาธุรกิจกว่า 5,000 ราย เชื่อมั่นหลังพัฒนาธุรกิจแล้วเสร็จ จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท

                นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กล่าวว่า “สสว. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ผ่านระบบ BDS  ภายใต้“โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566” ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงการบริการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจของตน ในด้านการตลาด และด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (bds.sme.go.th)และตอบโจทย์ความต้องการและเหมาะสมกับรูปแบบเฉพาะของธุรกิจตน”

                “BDS ถือเป็นหนึ่งโครงการที่ สสว. ได้ริเริ่มการพัฒนาผู้ประกอบการแบบ Customer Base โดยคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมกับธุรกิจของผู้ประกอบการ เป็นสำคัญ โดยผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบราคาบริการ และต่อรองราคาจากหน่วยงาน หรือผู้ให้บริการทางธุรกิจในด้านต่างๆ บนระบบ BDS ได้ด้วยตนเอง และ สสว. จะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมด้วยช่วยจ่าย (Co-Payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท ซึ่งจะเป็น  การช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการอีกทางด้วย โดย สสว.คาดว่า จะมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย และยื่นข้อเสนอพัฒนาธุรกิจ 5,000 ราย หากผู้ประกอบการได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจเสร็จสิ้นแล้ว จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท”

               นายวีระพงศ์ เปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มสูงขึ้น สสว.จึงเร่งลงทะเบียนผ่านหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจหรือ BDSP อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มี BDSP ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจ ผ่านระบบ BDS จำนวน 131 หน่วยงาน และมีการเสนอการบริการแล้ว 290 บริการ โดยแบ่งเป็นหมวดต่างๆ ดังนี้

              1.การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ : เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้า เจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ ร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

               2.การพัฒนาตลาดต่างประเทศ : เช่น จัดทำแผนหรือกลยุทธ์ ในการขยายสินค้า หรือบริการจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศอื่นๆ สร้างการรับรู้แบรนด์สินค้า ผลักดัยเข้าสู่เครือข่ายสินค้า และบริการในต่างประเทศบริการต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ สามารถให้บริการงานแสดงสินค้า และเจรจาธุรกิจ บนระบบ BDS ทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน MEGA Show ณ ไบเทคบางนา งานแสดงสินค้า Food Taipei 2023 ณ ไต้หวัน งานแสดงสินค้า Cambodia Food Plus Expo 2023 ณ กัมพูชา เป็นต้น

              3.การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ : เช่น การพัฒนา ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในสถานประกอบการ ระบบวางแผนทรัพยากร ขององค์กร หรือ ERP รวมถึงระบบ อื่นๆ ที่ใช้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ 

               4.การพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ : เช่น การอบรมเชิงลึก เพื่อให้ได้ใบรับรองหรือ ใบประกาศนียบัตร จากหน่วยงานผู้ออกใบรับรอง อบรมพนักงานด้านต่างๆ เช่น บัญชีการเงิน บริหารจัดการธุรกิจ ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินการใช้เครื่องมือ เป็นต้น

               5.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ : เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานรวมถึงการประเมินสถานที่เพื่อให้ได้มาตรฐาน เช่น เครื่องหมายรับรองอาหารและยา หรือ อย. การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือ OTOP มาตรฐาน ISO, GMP, SACCP มาตรฐานคุณภาพขนส่งด้วยรถบรรทุก หรือ คิวมาร์ค (Q Mark) และมาตรฐานอื่นๆ ช่วยสร้างความเชื่อถือ หรือเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ SME

               “BDS (MSME Recovery & Beyond) ปีงบประมาณ 2566 หรือ ‘SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2’  ถือได้ว่าเป็นการต่อยอด ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ ในรูปแบบใหม่ ช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ ของผู้ประกอบการ ให้สามารถเลือกรูปแบบ การพัฒนาการตามความต้องการ เหมาะสมกับแต่ลักษณะธุรกิจ ในรูปแบบ และช่วงเวลาตามความพร้อมของแต่ละกิจการ รวมถึงเข้าถึงการสนับสนุน ด้านต้นทุนเบื้องต้น ตามขนาดลักษณะธุรกิจของตน เพื่อสร้างการเติบโต อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป” นายวีระพงศ์ ทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหว และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bds.sme.go.th/

สสว.เคียงข้างเอสเอ็มอี คู่คิดที่ดี ผู้ประกอบการไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *