บันเทิงวาไรตี้

ทริปรักเรือล่มมหกรรมยำชนชั้นเวิลด์คลาส “Triangle of Sadness มันยอร์ชมาก” ส่งให้หนังคว้า “รางวัลชนะเลิศปาล์มทอง” ปีนี้

              สำหรับ Triangle of Sadness” ที่คว้า “รางวัลชนะเลิศปาล์มทอง” ประจำปีนี้ ผลงานของ “รูเบน ออสต์ลุนด์” (ผู้กำกับชาวสวีดิชที่เคยคว้าปาล์มทองมาแล้วกับหนัง The Square เมื่อปี 2017)  เรื่องนี้เป็นหนังตลกร้าย ที่เล่าถึงเรือสำราญที่เกิดอับปางกะทันหัน จนทำให้ผู้โดยสารอันประกอบไป ด้วยไฮโซและเหล่าเซเลบริตี้ ต้องหาทางเอาตัวรอดอยู่บนเกาะอันห่างไกลอย่างทุลักทุเล

            Triangle of Sadness ได้รับเสียงปรบมือหลังจบรอบปฐมทัศน์ยาวนานถึง 8 นาทีเต็ม คนส่วนใหญ่กล่าวชมว่ามันเป็นหนังตลกที่ฉลาด คาดไม่ถึง และเขียนบทพลิกแพลงได้เก่งสุด ๆ แน่นอน มันกลายเป็นหนังที่กรรมการทุกคนรัก จนถึงขั้นยกให้เป็นหนังชนะเลิศที่ 1 ของเทศกาลปีนี้

              ซึ่งเป็นหนังตลกร้ายแซะความหลงใหลในความงามอันปลอมเปลือกผู้คนในแวดวงแฟชั่น ไปจนถึงการแซะเหล่าไฮโซ มหาเศรษฐีผิวขาว โดยเฉพาะจากประเทศที่เจริญแล้ว ถือเป็นหนังตลกร้ายที่น่าจับตา และน่าดูที่สุดของปีนี้

              โดย รูเบน ออสต์ลุนด์ ให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อเรื่อง Triangle of Sadness มาจากคำที่ใช้ในแวดวงแฟชั่นที่บ่งบอกถึงริ้วรอยที่อยู่ระหว่างคิ้ว

              “มีเพื่อนนั่งคุยกับศัลยแพทย์พลาสติกในงานปาร์ตี้ ศัลยแพทย์มองใบหน้าของเพื่อนแล้วบอกว่า เธอมีสามเหลี่ยมแห่งความเศร้าอยู่บนใบหน้า แต่ผมสามารถแก้ไขมันได้ด้วยโบท็อกซ์ในเวลา 15 นาที” ออสต์ลุนด์เล่าอย่างทีเล่นทีจริง

               ออสต์ลุนด์ ใช้ Triangle of Sadness สำรวจสังคมของเหล่าคนรวย ไฮโซต่าง ๆ ซึ่งเขาพบว่า คนเรามักประพฤติตัวเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อรวยขึ้น โดยไม่ต้องไปมองจากไหนไกล แต่เขามองจากพฤติกรรมของตัวเอง

              “ตัวอย่างเช่น เวลาผมบินแบบ บิสสิเนสคลาส (Business Class) ผมจะปฏิบัติตัวแตกต่างไปจากเวลานั่งชั้นประหยัด (Economy Class) ผมนั่งอ่านอะไรไปอย่างช้า ๆ ดื่มอะไรไปอย่างช้า ๆ ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ มองดูผู้คนเดินทางนั่งชั้นประหยัด มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการมีพริวิเลจ (privilege)”

               จริง ๆ แล้วเวลาถ่ายทำ Triangle of Sadness อาจไม่นานเท่าไหร่ ตอนแรกกำหนดไว้เพียง 70 วันเท่านั้น แต่เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกลางทางหลังถ่ายทำไปได้ 37% ก่อนที่เมื่อกลับมาถ่ายทำอีกครั้ง จะใช้เวลาตะลอนถ่ายทั้งที่ สวีเดน และกรีซ เบ็ดเสร็จรวมกัน 73 วัน ไม่ได้มากกว่าความตั้งใจเดิมที่วางไว้มากนัก

              หนึ่งในสาเหตุที่ Triangle of Sadness ต้องใช้เวลาถ่ายทำนาน 2 เดือนกว่า ๆ เพราะออสต์ลุนด์ ถ่ายทำแต่ละฉากซ้ำไปซ้ำมา ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว จะถ่ายฉากเดิมซ้ำถึง 23 เทก เพื่อให้ได้ฉากที่ออกมาตรงใจผู้กำกับที่สุด

            “Triangle of Sadness มันยอร์ชมาก” เปิดรอบพิเศษ 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน  ตั้งแต่เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป ฉายจริง 3 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *