สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC 2022) เผยผลสำรวจจากภาคธุรกิจพร้อมการเปิดตัวหนังสั้นในธีม“Business of the People”สะท้อนพันธกิจABAC ที่มุ่งสนับสนุนให้ทุกคนร่วมขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีร่วมกัน
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) อันมีผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือในนาม ‘คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สภาบัน (กกร.)’ ตอกย้ำบทบาทในการเป็นตัวแทนของภาคเอกชน อันมีหน้าที่ส่งมอบข้อเสนอจากภาคเอกชนสู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว 2 องค์ประกอบสำคัญ ภายใต้แนวคิด“Business of the People” ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจใน “บทบาท” และ “ความสำคัญ” ของทุกคน ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันได้แก่ ผลสำรวจจากภาคธุรกิจ หรือ Business ofthe People Poll และภาพยนตร์สั้น ที่ฉายภาพของตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคนเกิดการรับรู้ และได้รับแรงบันดาลใจในการต่อยอดไปสู่การลงมือทำ เพื่อประโยชน์ของเราทุกคน
ด้วยปี 2022 นี้ ภาคเอกชนไทยได้รับเกียรติในการเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4/2022 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงบทบาทในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ “APEC CEO Summit 2022” ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่นโฮเทล ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ การประชุมดังกล่าวนับเป็นการรวมตัวสุดยอดซีอีโอ ผู้นำเอเปคผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ โดยนอกจากภาคเอกชนแล้ว ผู้ประกอบการและประชาชนคนไทยทุกคน ก็ถือเป็นส่วนสำคัญและมีบทบาทร่วมกันในการเป็นเจ้าภาพงานสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ส่งมอบข้อเสนอแนะให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อต่อยอดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ประการ อันได้แก่
(1) Regional Economic Integration – การบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
(2) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า
(3) MSME and Inclusiveness – การเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการระดับ MSME เพื่อทำให้ธุรกิจในทุกระดับมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
(4) Sustainability – การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสีเขียวและระบบอาหารที่ยั่งยืน และ
(5) Finance and Economics – การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อเร่งการฟื้นตัวและการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยสำหรับการเงินดิจิทัล โดย 5 กลยุทธ์ที่สำคัญดังกล่าวจะสามารถถูกนำไปปฏิบัติและเกิดความเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อเกิดความร่วมมือร่วมใจจากภาคเอกชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
The POLL – Business of the People
เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาสและคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย
ผลสำรวจได้แสดงความมั่นใจจากภาคธุรกิจไทยในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า ที่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้ โดยปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนประกอบไปด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน การปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค การให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนหรือการนำ BCG Modelมาปรับใช้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย (Small & Micro Enterprise) ยังมีความเปราะบางในด้านเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และการช่วยเหลือด้านนโยบายจากภาครัฐเพื่อลดการผูกขาดของรายใหญ่ในตลาด เหล่านี้จะทำให้การประกอบการของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังได้แสดงข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจส่งมอบไปยังภาคนโยบายในแง่มุมที่สำคัญและเร่งด่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน
การเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด การสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต การลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และการกำหนดนโยบายรวมถึงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นอาทิ(อ่านผลสรุป Key Findings ได้จากข้อมูลแนบท้าย)
The FILM – Business of the People
นอกจาก ‘เสียง’ จากภาคธุรกิจ การแสดงภาพที่ชัดเจนในเรื่อง “แนวทางการปฏิบัติ” ยังเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ต้องการนำเสนอและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคนให้เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกัน โดยการหยิบยกหนึ่งในเคสตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนตัวจริง ในตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เรื่องราวของ “ตั้ม – นิพนธ์ พิลา” อดีตดีไซน์เนอร์ที่ผันตัวไปเป็นเกษตรกรยุคใหม่ อันแสดงให้เห็นแล้วว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้จากการพัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันยุคทันสมัย ทั้งผสานความร่วมมือกันในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวไปด้วยกัน
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันและเป็นเบื้องหลังของโครงการภาพยนตร์สั้นดังกล่าว ได้ร่วมแสดงมุมมองในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน กล่าวคือ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า“ประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่ เรียกได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นบทบาทหน้าที่และธุระของทุกคน ในฐานะของผู้ผลักดันด้านการค้าของภาคเอกชน เราเห็นความสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลด้วยการปรับตัวทางธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงและเชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็น ส่วนสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุน ทั้งนี้ เราเชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัว แต่อาจยังไม่เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ดังนั้นเราจึงอยากนำเสนอภาพยนตร์ที่ต้องการหยิบยกเรื่องราวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการรายย่อยที่ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการความร่วมมือสู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอแบค 2022 กล่าวว่า “สำหรับแนวคิด Business of the People หรือ ธุระ(กิจ)ประชา ถือเป็นหัวใจแลเป้าหมายสำคัญ ในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการทุกคน หนึ่งในสิ่งที่เราขอส่งเสริมคือการพัฒนา “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าต่อภาคธุรกิจได้ สำหรับเคสตัวอย่างในภาพยนตร์ Business of the People ถือเป็นเคสที่ดีในการนำสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็นจุดขายในท้องถิ่น มาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีและองค์ความรู้จนเกิดเป็นผลิตผลทางการเกษตรยุคใหม่ ทั้งมีการนำไอเดียด้านความยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางอาหาร ซึ่งถือเป็นจุดโดดเด่นของประเทศไทยของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต”
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า“เราทุกคนต่างมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด คุณก็คือส่วนสำคัญการผลักดันและเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น โดยในมุมมองของผู้ร่วมขับเคลื่อนจากสถาบันการเงิน เราสนับสนุนให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (Supply Chain Finance) โดยการนำดิจิทัลเข้ามาประมวลผลจะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยและรายย่อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหันมาใช้ระบบการเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยจะเห็นตัวอย่างได้จากในภาพยนตร์ที่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่ในอนาคตภาคธุรกิจจะมีการพัฒนาไปสู่ระบบการเงินดิจิทัลใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น”
นายนิพนธ์ พิลา หรือ คุณตั้ม ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยจากชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมแบ่งปันแนวคิดและแนวทางปฏิบัติจริง ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อย ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความสำเร็จของธุรกิจ เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในทุกภาคส่วน โดยคุณตั้มได้เริ่มต้นจากการมองเห็นถึงของดีรอบๆ ตัวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือผู้คน จนเกิดการนำไปต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าและ “คุณค่า” ให้กับผลผลิตของชุมชน สู่การเติบโตและความสำเร็จของชุมชนแบบองค์รวม ผ่านการประยุกต์นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในชุมชนให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้คุณตั้มยังไม่หยุดเพียงแค่ในชุมชนบ้านเกิด แต่ยังมีการบูรณาการความร่วมมือและแบ่งปันแนวคิดไปสู่ชุมชนและจังหวัดอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนถึงโอกาสในการต่อยอดผลผลิตและจุดเด่นของชุมชนทุกแห่งร่วมกัน
“ในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยคนหนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มาจากเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ของเรา จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนไม่มากก็น้อย หัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันในชุมชน ผมทำได้ คุณเองก็ทำได้” นายนิพนธ์ พิลา กล่าวสรุป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านผลสำรวจ Business of the People Poll และร่วมรับชมภาพยนตร์สั้นได้ทาง www.abac2022.org หรือในช่องทางยูทูป คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมติดตามรายละเอียด
ของงานสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 ได้ที่เว็ปไซด์ https://apecceosummit2022.com
ผลสรุปโครงการสำรวจ “Business of the People Poll” โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค 2022
โครงการสำรวจ “Business of the People Poll” จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น รับรู้ มุมมอง ของนักธุรกิจไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ผ่านสถาบันยุทธศาสตร์การค้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เนื่องในวาระที่ไทยรับหน้าที่เจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เอเปค 2022 (ABAC 2022)
การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาผ่านผู้ประกอบการไทย จำนวน 451 ตัวอย่าง ใน 5 ภูมิภาคหลักได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพและปริมณฑล อันเป็นตัวแทนผู้ประกอบการไทย ที่วางประเด็มุ่งเน้นไปที่ ‘ปัจจัย ความท้าทาย โอกาส และความเป็นไปได้ในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ ในการทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และมุมมองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจ ซึ่งผลสรุปจากการสำรวจในครั้งนี้ มีผลลัพธ์และประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
Key Findings:
1. มุมมองด้านสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ
ผลสำรวจพบว่า สถานะทางธุรกิจในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมาทางด้านยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่อง การจ้างงาน การลงทุน และภาพรวมธุรกิจ ยังคงอยู่ในสถานะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้าพบว่า ภาคธุรกิจโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้
2. ทัศนะต่อการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล
ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันเห็นว่าเทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบันมีความสำคัญในระดับมากที่ร้อยละ 68.5% เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับมาก และจะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมากในขณะที่การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์ด้าน E-Commerce มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การบริหารสินค้า-คลังสินค้า และด้านการผลิต ตามลำดับ
3. ทัศนะต่อนโยบายด้าน BCG และสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในระดับมากถึงร้อยละ 65.8% ปานกลาง 29.9% น้อย 3.1% ไม่สำคัญเลย 0.9% แต่ในอนาคตภาคธุรกิจเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงเรื่อง BCG Model พบว่าภาคธุรกิจที่เข้าใจในระดับน้อยถึงไม่เข้าใจเลยมีมากกว่า 50% โดยภาคที่มีระดับความเข้าใจมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นธุรกิจขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม อาจเห็นว่า BCG เป็นเรื่องไกลตัว
4. ทัศนะต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
จากผลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วนของแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ เป็นแหล่งเงินทุนภายในกว่า 60% และในอนาคตคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนภายในเกือบ 70% โดยเมื่อพิจารณาขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจรายย่อย (Small) ธุรกิจขนาดย่อม (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ใช้แหล่งเงินทุนของตัวเองมากกว่าแหล่งทุนภายนอก เนื่องจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกน้อย โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม
5. ทัศนะต่อการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
ผลการสำรวจพบว่า การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความรู้
และความเข้าใจเกี่ยวกับ FTA ยกเว้นผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้สิทธิประโยชน์ในการทำการค้าอยู่ในระดับน้อย ขณะที่การเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ได้รับการเห็นด้วยจากเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบจากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี รวมถึงมีช่องทางหรือตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้น ไปจนถึงสินค้าจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
6. การพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)
จากผลการสำรวจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ธุรกิจดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนพบว่า ธุรกิจโดยภาพรวมจะทำการพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน มองว่าจะต้องประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลอย่างซื่อตรง โปร่งใส และตรวจสอบได้ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy ตามลำดับ
7. โอกาสทางธุรกิจ
จากผลการสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจเห็นว่าธุรกิจไทยในปัจจุบันมีโอกาสมาก และในอนาคตยังมีโอกาสเพิ่มมากกว่า ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดการค้าเสรี (FTA) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าด้านการผลิต การขาย หรือการบริหารจัดการองค์กร และอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
8. ข้อแนะนำต่อภาคธุรกิจและภาคนโยบาย
เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
- มุ่งพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพรองรับต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
- ควรรักษามาตรฐานและคุณภาพทั้งในด้านสินค้าและบริการอยู่เสมอ
- ธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้มากที่สุด
- ภาครัฐและภาคเอกชน ควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน
เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
- ภาคธุรกิจควรมีแนวคิดในการทำธุรกิจร่วมกันและแลกเปลี่ยนทรัพยากร เช่น วัตถุดิบ เครือข่าย องค์ความรู้ ระหว่างธุรกิจ และพยายามรักษา Supply Chain ระหว่างคู่ค้าเอาไว้ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
- ภาครัฐควรส่งเสริมหรือกำหนดนโยบายให้กับ MSMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น เพื่อลดการผูกขาด
ใน ตลาดจากรายใหญ่ - ภาครัฐและภาคเอกชนควรเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด
เพื่อความก้าวหน้าผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ
- ภาคเอกชน ยังต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ MSMEs โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม ใหม่ๆ รวมถึง
ให้คำแนะนาในการดำเนินธุรกิจ - ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
- มีการกำหนดนโยบาย รวมถึงกฎหมาย ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งควรเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่อยู่บน Supply Chain เดียวกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน